กระ เกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีเมลานินที่สร้างเซลเม็ดสีมากเกินไป บริเวณที่กระมักจะปรากฏอยู่ที่จมูก โหนกแก้ม หรือตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ต้นแขน ต้นขา ซึ่งตัวการทำร้ายและทำลายผิวที่ก่อให้เกิดกระ มีดังนี้
1. แสงแดด
เราทราบดีว่าในแสงแดดนั้นมีรังสี UVA และ UVB ที่คอยทำลายผิวให้คล้ำเสีย ทั้งยังกระตุ้นให้เม็ดสีเมลานินนั้นผลิตขึ้นมากผิดปกติ ทำให้เกิดจุดด่างดำหรือจุดสีน้ำตาลเล็กๆ ที่กระจายไปทั่วผิวหน้า
2. แสงจากมือถือและโทรทัศน์
อีกหนึ่งตัวการร้ายทำลายผิวหน้า เพราะแสงจากอุปกรณ์เหล่านี้สามารถส่งผลกับการสร้างเม็ดสีเมลานินใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดกระตื้นเช่นกัน
3. อารมณ์และความเครียด
ความเครียดส่งผลให้เกิดการผลิตฮอร์โมนที่ผิดปกติและแปรปรวน เมื่อฮอร์โมนไม่สมดุล จึงทำให้เกิดการสะสมของเม็ดสีเมลานินจนเป็นกระได้
ชนิดของกระ กระมี 4 ชนิด
1. กระตื้น
จุดสีน้ำตาลเล็กๆ มักพบบริเวณโหนกแก้มทั้ง 2 ข้างหรือจมูก สาเหตุหลักมาจากพันธุกรรมและการทำงานผิดปกติของเซลเม็ดสี บางคนเป็นกระตื้นตั้งแต่อายุน้อยเพราะเซลเม็ดสีมีความไวต่อแสง หากไม่ป้องกันอย่างเหมาะสม กระตื้นจะมีสีเข้มข้น จำนวนเพิ่มขึ้นและขนาดใหญ่ขึ้นอีกด้วย
2. กระลึก
จุดเล็กๆ หรือแผ่นสีน้ำตาลไปจนถึงสีเทาดำ มองเผินๆ คล้ายปานหรือฝ้า มักพบบริเวณขมับ ดั้งจมูกและโหนกแก้ม โดยสาเหตุของกระลึกเกิดจากความผิดปกติของเซลเม็ดสีในชั้นหนังแท้ ซึ่งพบตั้งแต่แรกเกิดและจะถูกกระตุ้นโดยรังสี UV จากแสงแดด นอกจากนี้เรื่องของฮอร์โมนก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยทั้งอายุที่เพิ่มขึ้นหรือในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ กระลึกนั้นอาจยิ่งมีสีเข้มชัดขึ้นได้
3. กระเนื้อ
ตุ่มเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงน้ำตาลเข้ม มักพบในบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าคอ หน้าอกและหลังตุ่มเล็กๆ เหล่านี้มีโอกาสจะขยายใหญ่ขึ้นและมีสีเข้มขึ้นได้ โดยสาเหตุการเกิดกระเนื้อ คือผิวหนังชั้นกำพร้าเจริญมากผิดปกติ โดยแสงแดดและอายุที่เพิ่มขึ้นมีผลในการกระตุ้นให้กระเนื้อมีขนาดใหญ่และจำนวนมากขึ้นนั่นเอง
4. กระแดด
จุดหรือปื้นเรียบๆ สีน้ำตาลหรือสีดำ มีขอบชัดกว่ากระอื่นๆ มักพบในบริเวณที่โดนแดดบ่อยๆ เช่น บริเวณใบหน้าหรืออาจจะเป็นโหนกแก้มที่รับแสงแดดกว่าจุดอื่น หรือ แขน ขา ที่ไม่ได้รับการทาครีมปกป้องแดด ส่วนใหญ่จะเป็นกับผู้ที่มีผิวขาวและอายุมาก